คำถามที่พบบ่อย

กรุณาเลือกหัวเรื่องคำถามที่ต้องการ

สอบถามอาการของคนที่ติดไวรัสตับอักเสบบีตอนโต

ตับอักเสบเฉียบพลัน หลังจากไวรัสตับอักเสบบีเข้าสู่ร่างกายเชื้อจะไปซุ่มซ่อนฟักตัวในตับ โดยระยะฟักตัวตั้งแต่ 1-6 เดือน โดยเฉลี่ย 2-3 เดือน พบว่าเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่มีอาการที่เหลืออาจไม่มีอาการชัดเจน ดังนั้นท่านไม่ต้องแปลกใจหากไปตรวจเลือดพบว่าท่านเคยเป็นไวรัสตับอักเสบบี และมีภูมิแล้วโดยท่านไม่เคยมีอาการตับอักเสบเลย หลังจากระยะฟักตัวในผู้ป่วยที่มีอาการจะเริ่มด้วยอาการนำคืออาการปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร การรับรสอาจเปลี่ยนไป อ่อนเพลีย ไข้ต่ำๆ คลื่นไส้ และอาเจียน เหนื่อยง่าย บางรายมีจุกๆ บริเวณชายโครงขวาหรือยอดอก ก่อนจะเริ่มสังเกตว่าปัสสาวะเหลืองเข้มกว่าปกติ ตาเหลือง ตอนนี้ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ ในระยะนี้หากตรวจเลือดจะพบว่าระดับ AST และ ALT สูงมาก เช่น 1000-2000 หน่วย/ลิตร ท่านไม่ต้องตกใจเพราะว่าเป็นปกติของไวรัสตับอักเสบที่จะมีระดับ AST และ ALT สูงในการประเมินว่าโรครุนแรงหรือไม่ดูจากอาการไม่ใช่ที่ผลเลือด เมื่อผู้ป่วยเริ่มเหลืองแล้ว โดยทั่วไป อาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหารจะค่อยๆ ลดลง แม้ว่าจะเหลืองมากขึ้นก็อย่าตกใจ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติโดยสามารถกำจัดไวรัสออกจากร่างกายและมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น ซึ่งจะป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับบีไปได้ตลอดชีวิตและตับก็กลับเป็นปกติ ไม่มีพังผืดหรือแผลเป็นใดๆ หลงเหลือแม้ว่าตอนอักเสบ ผลเลือดจะสูงมากก็ตาม

อาการระยะแรกของไวรัสตับอักเสบบี แพทย์บอกว่าเป็นไวรัสตับอักเวบบีแต่ไม่เห็นมีอาการใดๆ เลย มันมีโอกาสกำเริบไหมและปัจจัยใดที่กระตุ้นให้อาการเกิดมากขึ้นและควรปฏิบัติตัวอย่างไร ควรไปฉีดวัคซีนหรือไม่

ไวรัสตับอักเสบบีมีโอกาสกำเริบได้ ขึ้นกับปริมาณเชื้อในร่างกายและพยาธิสภาพของตับ ถ้ามีเชื้อมาก ก็จะมีโอกาสโรคกำเริบสูงขึ้น ปัจจัยที่ทำให้ตับแข็งเร็วขึ้น เช่น ยาชุดที่จำหน่ายตามร้านขายยาที่ไม่มีเภสัชกรควบคุม ไม่ทราบชนิดยาที่แน่ชัด, การดื่มสุรา, การเป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) ผู้ป่วยควรได้รับการฉีดวัคซีนถ้ายังไม่มีภูมิคุ้มกัน เพราะฉะนั้นต้องถามแพทย์ให้แน่ชัดว่าเป็นแบบไหน เช่น เป็นไวรัสตับอักเสบบี และขอคำแนะนำจามแพทย์ถึงการปฏิบัติตัว

ได้รับแจ้งว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีประมาณ 20 ปีแล้ว ได้ไปบริจาคเลือดประมาณ 2-3 เดือนที่ผ่านมาก็มีหนังสือแจ้งมีเชื้อไวรัสบี อย่างนี้เราเป็นพาหะใช่ไหม แล้วอย่างนี้เป็นตับอักเสบหรือยัง ถ้าไปตรวจที่โรงพยาบาลใช้ประกันสังคมได้หรือไม่ ถ้าใช้ไม่ได้จะต้องตรวจที่ไหนถึงจะไม่แพง ต้องฉีดวัคซีนได้หรือไม่ ราคาเท่าไหร่ จะฉีดกี่ครั้ง และจะรักษาไหม

คุณอาจติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีโดยไม่มีอาการก็อาจเป็นได้ ถ้าจะให้รู้แน่นอนต้องไปพบแพทย์ขอตรวจเลือด และถ้าผลเลือดเป็นอย่างไรก็ขอคำแนะนำจากแพทย์ ว่าเราควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร ประกันสังคมครอบคลุมสิทธิ์ดังกล่าว คุณไม่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนแล้ว เพราะมีการติดเชื้อในเลือดแล้ว

การซักผ้าสามารถฆ่าเชื้อไวรัสตับอักเสบได้ไหม เมื่อมีอยู่ว่า เมื่อ 2-3 วันก่อน เพื่อนมาค้างที่บ้าน และเพื่อเป็นไวรัสตับอักเสบ แต่ปกติไม่ได้สนใจ เราก็จับมือกัน กอดคอกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าวันนั้นเค้ามาค้างที่บ้าน แล้วก็ใช้ผ้าเช็ดตัวผืนเดียวกัน แต่หลังจากเค้าอาบน้ำเสร็จ ก็สังเกตุเห็นว่าที่ข้อศอกเค้ามีเลือดออก ซึ่งเค้าก็ใช้ผ้าเช็ดตัวของหนูซับเลือดด้วย วันนั้นหนูก็ไม่ได้คิดอะไรหรอกนะคะ แต่วันต่อมาหนูมานึกดู ก็รู้สึกกังวลมากๆ 1. หนูอยากทราบว่าแค่การซักผ้าจะทำให้เชื้อหมดไปได้ไหมคะ 2.ถ้าเป็นไวรัสตับเอ ที่สามารถติดต่อทางน้ำลาย การซักเสื้อผ้าหรือการล้างเครื่องใช้ (แก้ว ช้อน) จะทำให้เชื้อหมดไปไหมคะ 3.โรคพวกนี้ติดง่ายแค่ไหนคะ เราควรระมัดระวังแค่ไหน ช่วยแนะนำด้วยนะค่ะ

ไวรัสตับอักเสบเอ (HAV) และไวรัสตับอักเสบอี (HEV) เป็นไวรัสอีก 2 ตัวเท่านั้นที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบเฉียบพลันโดยการกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไป โดยที่ไวรัสมักจะออกมากับอุจจาระของผู้ป่วยแล้วไปปนเปื้อนอยู่ในอาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนี้สัตว์บางชนิดจะเป็นพาหะของเชื้อไวรัสอยู่ เช่น หอย 2 ฝา จำพวกหอยนางรมที่ยังไม่สุกพอก็สามารถเกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอได้ การป้องกันติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ ต้องปฏิบัติตัวตามสุขบัญญัติ 10 ประการ ระบประทานอาหารสุกและเครื่องดื่มที่สะอาด ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร ไวรัสตับอักเสบติดต่อกันอย่างไร การติดเชื้อที่พบบ่อย คือ การถ่ายทอดจากมารดาที่ติดเชื้อสู่ทารก แต่ในปัจจุบันจะลดลงมาก เพราะการฉีดวัคซีนให้ทารกที่คลอดมาจะช่วยป้องกันได้เกือบร้อยละ 100 ดังนั้นการติดต่อที่สำคัญในปัจจุบันคือ ทางเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ โดยไม่ได้ป้องกัน ซึ่งไวรัสตับอักเสบบีสามารถติดต่อได้ง่ายกว่าเชื้อไวรัสเอดส์ การสัก เจาะหู หรือการฝังเข็ม โดยอุปกรณ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อไม่ถูกต้อง การได้รับเลือดและส่วนประกอบของเลือดที่ไม่จำเป็นก็อาจเป็นสาเหตุได้ แต่พบได้น้อยมากในการตรวจกรองของธนาคารเลือดในปัจจุบัน การซักเสื้อผ้าหรือการล้างเครื่องใช้ (แก้ว ช้อน) ที่สะอาดเพียงพอ น่าจะทำให้เชื้อหมดไปได้ ไวรัสตับอักเสบบีและซีติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทางสารคัดหลั่ง การใช้เข็มร่วมกันในผู้ที่ติดยาเสพติดหรือใช้มีดโกนร่วมกัน ในกรณีมีบาดแผล มีเลือดออก

ไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง ไม่มีอาการ ตับปกติ ได้ตรวจนับเชื้อไวรัสบีแล้วมีจำนวนน้อย (5,000) เป็นไปได้ไหมว่าหากปฏิบัติตัวดีแล้ววันหนึ่งเชื้อไวรัสจะหมดไปจากร่างกาย จำนวนเชื้อมากหรือน้อยหมายถึงโอกาสตับป่วยมีมาหรือน้อยตามด้วยหรือไม่

เชื้อมักอยู่ตลอดไป แต่หากคุณมีเชื้อน้อยกว่า 10,000 โอกาสกำเริบในอนาคตน้อย การมีเชื้อมากบอกว่าอาจกำเริบได้มาก แต่การที่จะบอกว่าโรคมากหรือน้อย แพทย์จะดูที่เนื้อตับ เพราะการอักเสบเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างร่างกายเรากับไวรัส

อายุ 71 เพิ่งทราบว่าเป็นตับแข็ง คุณแม่มีอาการเท้าบวม ขาบวม ท้องมาน ไปตรวจพบว่าเป็นตับแข็งแล้ว พบไวรัสบี นิ่วในถุงน้ำดี ม้ามโต มีอาการบวมนานเป็นเดือนถึงไปพบแพทย์ ต้องรอผลตรวจเลือดซ้ำอีกสองอาทิตย์ กลัวมาก กลัวคุณแม่เป็นมะเร็งตับ อยู่กันสองคนแม่ลูก ปกติคุณแม่ชอบอยู่คนเดียว ตอนนี้กลุ้มใจ กังวลมากค่ะ สงสารท่าน และเริ่มโทษตัวเองที่ดูแลท่านไม่ดี โอกาสหายมีมากน้อยแค่ไหนคะ หรือว่าต้องเตรียมใจ

คงต้องรอผลการตรวจก่อนครับ หากแค่ตับแข็งจากไวรัสบีโดยไม่มีมะเร็งตับ การรักษาจะทำให้ท่านอาการดีขึ้นมากๆ ได้ครับ อย่างน้อยตอนนี้หากบวมแนะนำให้งดเค็มและรับประทานอาหารบ่อยๆ มื้อครับ ควรทานทุกชนิดไม่ใช่มัวแต่ทานพืชผักโดยไม่ทานเนื้อสัตว์

พฤติกรรมของผู้ที่ดื่มเป็นประจำขั้นไหนที่เรียกว่าติดสุราและผลของพฤติกรรมทางจิตเป็นอย่างไร วิธีการดูแลและรักษาผู้ที่ทำเป็นเช่นไร

อาการหรือพฤติกรรมของผู้ดื่มขั้นที่เรียกว่าติดสุราคือมีอาการเกิดขึ้นเมื่อหยุดสุรา อาการที่เกิดขึ้นเมื่อหยุดสุรานั้นมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น หยุดเหล้าแล้วมีอาการมือสั่น สับสน เพ้อ ทำงานไม่ได้ตามปกติ คิดเลขไม่ได้ นอนไม่หลับ มองภาพหลอน ถ้าเป็นขั้นรุนแรงจะมีอาการซึมและชักได้ วิธีรักษานั้น ถ้าตั้งใจหยุดจริงๆ เมื่อลองหยุดด้วยตนเองแล้วหยุดไม่ได้ ให้ปรึกษาจิตแพทย์ ซึ่งปัจจุบันมีบางโรงพยาบาลมีกลุ่มหยุดเหล้าโดยเฉพาะ เพื่อดูแลอารที่เกิดจากการหยุดเหล้า อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลที่มีจิตแพทย์ก็สามารถให้คำปรึกษาได้

มะเร็งตับ ไม่เคยตรวจเลือดมาก่อนเลย แต่เมื่อเดือนที่ผ่านมาได้ไปตรวจเลยปรากฎว่าพบไวรัสตับอักเสบบี แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นระยะที่เท่าไหร่ มากน้อยแค่ไหน เมื่อศึกษาข้อมูลแล้วพบว่าอาการของคนที่เป็นโรคนี้เหมือนกับที่ดิฉันเป็นอยู่ แต่ตัวดิฉันมีอาการดังกล่าวมา 10 กว่าปีแล้ว แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรเพราะเมื่อ 10 ปีที่แล้วดิฉันเข้ารักษาตัวเนื่องจากมีกรดในลำไส้ คุณหมอให้ยาไปทานประมาณ 2 ปีก็ดีขึ้น แต่ตอนนั้นทางโรงพยาบาลไม่ได้ตรวจเลือด ดิฉันเลยสงสัยว่าดิฉันเป็นไวรัสตับอักเสบมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ปัจจุบันก็มีอาการท้องอืด แน่นท้อง เรอบ่อยๆ ที่สำคัญดิฉันอยากทราบว่าดิฉันจะเป็นมะเร็งตับหรือไม่ เพราะถ้าเป็นตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว กลัวจะเป็นระยะที่รุนแรง

อาการท้องอืด แน่นท้อง เรอบ่อยไม่ได้เป็นอาการที่เฉพาะเจาะจงกับโรคตับหรือมะเร็งตับและไม่น่าจะเป็นมาตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพราะการดำเนินโรคจะไม่ช้าขนาดนี้ จะตรวจได้ว่าเป็นมะเร็งตับหรือไม่ อาศัยการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ร่วมกับตรวจอัลตราซาวด์หรือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์

ตับแข็ง สามีอายุ 44 เป็นเบาหวานและน่าจะมีอาการตับแข็งร่วมด้วย ดื่มสุรามาหลายปี ขณะนี้มีอาการท้องบวม เจ็บในช่องท้องมาก ขณะนี้เจ็บท้องด้านซ้ายมากที่สุด ดูแข็งขึ้นมาเป็นก้อน ท้องโตจนกลัวจะแตก อาการตับแข็งระยะสุดท้ายเป็นยังไง จะช่วยได้ยังไงไม่ยอมหาหมอ จะอยู่ได้นานไหม จะมีโรคแทรกซ้อนอะไรบ้างและลักษณะอาการยังไง

ก้อนโตมากขึ้น ต้องแยกว่ามีเนื้องอกแทรกซ้อนขึ้นมาจากโรคตับเดิมหรือไม่ ส่วนเรื่องโรคตับแข็ง ถ้าระยะสุดท้ายจะมีอาการมีน้ำในท้องมาก ทำให้ท้องบวม ขาบวม ตัวตาเหลือง ท้องโตตึง ผอม อาจมีอาการสับสนหรือมีอาเจียนเป็นเลือด ควรแนะนำสามีของคุณไปตรวจพบแพทย์ ส่วนจะอยู่ได้นานเท่าไหร่ คงตอบไม่ได้ เนื่องจากต้องตรวจดูคนไข้อย่างละเอียดก่อน จากผลเลือด อาการและการตรวจร่างกาย โรคแทรกซ้อนมีหลายแบบ เช่น อาจติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น

เพื่อนชายอายุ 39 ปี มีอาการปวดแน่นท้องอย่างรุนแรง ประมาณ 3 อาทิตย์ เมื่อตรวจหมอบอกว่าเป็นเนื้องอกในตับ ต้องผ่าตัด แต่ลักษณะเนื้องอกอยู่ในตับทั้ง 2 ข้าง อยากทราบว่าเนื้องอกกับมะเร็งในตับเหมือนกันหรือไม่ แล้วโอกาสจะรักษาให้หายมีหรือไม่ หรือเป็นการรักษาเพื่อคุมอาการได้อย่างเดียว แล้วควรให้คนไข้ปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง เนื่องจากหมอนัดผ่าตัดอาทิตย์หน้าแล้ว

ปกติเนื้องอกในตับมักจะไม่ต้องผ่าตัด ยกเว้น เป็นเนื้อร้านหรือเป็นมะเร็งนั่นเอง มีโอกาสรักษาหาย ถ้าผ่าตัดออกได้หมอซึ่งเพิ่มระยะเวลาการมีชีวิต การปฏิบัติตัวคือรักษาร่างกายให้แข็งแรง งดดื่มแอลกฮอล์ งดรับประทานยาสมุนไพร ยาชุด โดยไม่จำเป็น

เป็นตับแข็งใช้ยาบำรุงตับหรืออาหารเสริมได้ไหม สามีมีอาการน่าจะใช่ตับแข็ง ท้องบวมเป็นก้อนแข็งทั้งซ้าย ขวา ยังคงดื่มสุราอยู่แต่พยายามจะลด การใช้ยาบำรุงตับพวก essential ร่วมกับยาบำรุงพวกโสมเกาหลีจะช่วยบรรเทาอาการไหม เป็นเบาหวานด้วย ไม่ยอมไปหาหมอ

กรณีสามีคุณควรให้หยุดเหล้าโดยแด็ดขาดเพื่อชะลอการดำเนินของโรค ควรไปตรวจรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ สังเกตุอาการแทรกซ้อนของตับแข็ง เช่น ท้องมาน, ภาวะเส้นเลือดโป่งในหลอดอาหาร บางครั้งอาจทำให้อาเจียนเป็นเลือดได้ กรณีที่ไม่ยอมไปพบแพทย์ควรชี้แจงถึงผลเสียที่ไม่ไปพบแพทย์ กรณีที่สามีคุณเป็นควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ทั้งยังเป็นโรคเบาหวานร่วมด้วย ควรติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ การใช้ยาบำรุงตับพวก essential แทบจะไม่ช่วยบรรเทาอาการเลย อาจช่วยบำรุงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

หมอตรวจพบก้อนเนื้อขนาดประมาณ 15 ซม. ในคนไข้ชายอายุ 71 ปี ซึ่งไม่ดื่มแอลกฮอล์ หรือเป็นตับอักเสบใดๆ มาก่อน AFP ของคนไข้อยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 4-5 อาการอื่นๆ เช่น ปวดท้อง ท้องอืดไม่มี จะมีก็คือเหนื่อยง่าย หมอบอกจากรูปการณ์สงสัยว่า เป็นไปได้ไหมที่คนเป็นมะเร็งตับขนาด 15 ซม. แต่ค่า AFP ปกติ

เป็นไปได้ครับ ราวร้อยละ 20 ของมะเร็งตับมระดับ AFP ปกติและก้อนมักโตกว่าจะมีอาการครับ อาจ 10-15 ซม. หรือมากกว่า การที่ไม่มีอาการตับอักเสบไม่ได้บอกว่าไม่ได้เป็นไวรัสตับอักเสบ เช่น ไวรัสบีหรือซี ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ คงต้องอสศัยข้อมูลเพิ่มเติมในการวินิจฉัยมะเร็งตับ

โรคตับแข็งจากไวรัสตับอักเสบบีรักษาด้วยยาสมุนไพรได้หรือไม่

อันตรายมากครับ เพราะอาจมีสาร steroid ในสมุนไทร เราจะพบบ่อยๆ ว่าถึงกับตับวายเสียชีวิตเลยครับ หากยังไม่อยากรักษาทางยาอยู่เฉยๆ จะดีกว่า

เป็นไวรัสตับอักเสบบีสามารถเล่นกีฬาได้ไหม ตรวจค่าพบว่าเป็นดีซ่านพร้อมๆ กับไวรัสตับอักเสบ อยากทราบว่าจะหายไหม แล้วสามารถเล่นกีฬาได้หรือไม่

หากเป็นแบบเฉียบพลันมักหายเป็นปกติ ยาที่ให้รับประทานเป็นเพียงยาบำรุง สำหรับเรื่องการออกกำลังกายหากหายแล้วก็ออกได้ตามปกติ หากยังไม่หายอาการที่จะบอกได้ดีที่สุดคือว่าอ่อนเพลียไหม หากหายเพลียแล้วก็เริ่มออกได้ ค่อยๆ เพิ่มขึ้นครับ

น้องชายป่วยเป็นโรคตับแข็งมีสาเหตุจากสารทองแดง (Wilson's disease) และเป็นโรคเบาหวาน ควรที่จะฏิบัติตัวอย่างไร จะสามารถรักษาสภาพของตับได้นานเพียงไร และมีโอกาสหายจากโรคตับหรือไม่

เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ หากทานยาตลอดตับจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ห้ามหยุดยาเด็ดขาด เขาจะได้เป็นปกติไปตลอด และพี่น้องก็ควรได้รับการตรวจด้วย เพราะโรคนี้เกิดจากกรรมพันธุ์

มะเร็งตับ ไม่เคยตรวจเลือดมาก่อนเลย แต่เมื่อเดือนที่ผ่านมาได้ไปตรวจเลยปรากฎว่าพบไวรัสตับอักเสบบี แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นระยะที่เท่าไหร่ มากน้อยแค่ไหน เมื่อศึกษาข้อมูลแล้วพบว่าอาการของคนที่เป็นโรคนี้เหมือนกับที่ดิฉันเป็นอยู่ แต่ตัวดิฉันมีอาการดังกล่าวมา 10 กว่าปีแล้ว แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรเพราะเมื่อ 10 ปีที่แล้วดิฉันเข้ารักษาตัวเนื่องจากมีกรดในลำไส้ คุณหมอให้ยาไปทานประมาณ 2 ปีก็ดีขึ้น แต่ตอนนั้นทางโรงพยาบาลไม่ได้ตรวจเลือด ดิฉันเลยสงสัยว่าเป็นไวรัสตับอักเสบมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ปัจุบันก็มีอาการท้องอืด แน่นท้อง เลอออกบ่อยๆ ที่สำคัญดิฉันอยากทราบว่าดิฉันเป็นโรคมะเร็งตับหรือไม่

อาการท้องอืด แน่นท้อง เรอบ่อยไม่ได้เป็นอาการที่เฉพาะเจาะจงกับโรคตับหรือมะเร็งตับและไม่น่าจะเป็นมาตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพราะการดำเนินโรคจะไม่ช้าขนาดนี้ จะตรวจได้ว่าเป็นมะเร็งตับหรือไม่ อาศัยการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ร่วมกับตรวจอัลตราซาวด์หรือเอ็กซ์เรย์

อยากทราบว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อพบว่าเป็นไวรัสซี และโรคนี้มีระยะในการฟักตัวนานเท่าใด ถ้าได้รับการรักษาตัวจะหายขาดหรือไม่ และถ้าไม่หายขาดจะอยู่ได้นานไหม และถ้าไม่รักษาเลยจะอยู่ได้ประมาณกี่ปี

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีไม่มีอาการและการดำเนินโรค จนกว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ตับแข็งหรือมะเร็งตับ นอกจากนั้นมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่มีการดำเนินโรคเร็วจนเกิดความเจ็บปวดจากโรคไวรัสตับอักเสบซี ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอาจไม่มีอาการใดๆ เลยจนเสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่นๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบซี ดังนั้นหากคุณเป็นผู้หนึ่งที่โชคไม่ดีได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซีก็อย่าท้อแท้หมดกำลังใจ คุณสามารถมีชีวิตได้เหมือนคนปกติทุกประการ และสิ่งที่ท่านควรปฏิบัติ คือ ไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่นหรือคนใกล้ชิด ดังได้กล่าวแล้วว่าการติดเชื้อที่สำคัญคือการติดจากเลือดและการใช้ของที่ปนเปื้อนเลือดทั้งหลาย ดังนั้นท่านจึงควรงดบริจาคการบริจาคเลือดหรือส่วนประกอบของเลือด ทั้งนี้แม้ท่านที่รักษาหายแล้วก็ตาม สมควรงดการบริจาคตลอดไป เพราะเราไม่ทราบว่ายังมีเชื้อกลับซ้ำหรือไม่ และที่สำคัญผลการตรวจ anti-HCV ของท่านจะให้ผลบวกตลอด ทำให้ทางธนาคารเลือดต้องทิ้งเลือดที่มีผลการตรวจ anti-HCV เป็นบวก นอกจากนั้นไม่ควรใช้ของที่อาจปนเปื้อนเลือดร่วมกัน เช่น แปรงสีฟัน กรรไกรตัดเล็บ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การสัก การเจาะตามร่างกาย หากอยากทำควรบอกให้ทิ้งอุปกรณ์ที่ใช้กับคุณหรือทำการฆ่าเชื้อที่เหมาะสม สำหรับในกรณีทางเพศสัมพันธ์มีการติดต่อน้อยมาก หากคุณไม่ใช่คนสำส่อนทางเพศ หรือมีพฤติกรรมทางเพศรุนแรง โอกาสที่จะติดไปยังคู่สมรสพบได้น้อยมาก เช่นเดียวกับในกรณีของคุณสุภาพสตรี โอกาสที่จะติดไปยังทารกในครรภ์หรือการให้นมบุตรน้อยมากๆ จึงไม่เป็นข้อห้ามในการตั้งครรภ์หรือการให้นมบุตร ยกเว้นเวลาที่บริเวณเต้านมมีบาดแผลรับประทานอาหารให้ถูกสุขอนามัย คุณควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่และควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง การรับประทานอาหารมากเกินไปอาจทำให้เกิดโรคอ้วน มีไขมันเกาะตับทำให้โรคตับเป็นมากขึ้น อาหารเสริมต่างๆ ไม่มีความจำเป็นใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนั้นการรับประทานอาหารหรือวิตามินเสริมมากเกินไปอาจทำให้ตับคุณเสียเร็วขึ้น เช่น การรับประทานธาตุเหล็กมากเกินไป หรือรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอมากเกินไปจะทำให้เกิดตับแข็งเร็วมากขึ้นได้ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์ แอลกฮอล์เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างมากในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี แม้ในปริมาณไม่มากเพียง 20-30 กรัมต่อวัน ขนาดประมาณเบียร์ 1 กระป๋องหรือไวน์สัก 1 แก้วก็อาจเสริมทำให้โรคตับรุนแรงขึ้นได้ จึงสมควรที่จะหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกฮอล์อย่างยิ่ง หลีกเลี่ยงยาหรือสารต่างๆ ที่อาจมีอันตรายต่อตับ เนื่องจากตับมีหน้าที่สำคัญในการทำลายยาและสารพิษต่างๆ ดังนั้นในการใช้ยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่าคุณมีโรคตับจากไวรัสตับอักสบซี อย่างไรก็ตามการใช้ยาแก้ปวดลดไข้ก็สามารถใช้ยารับประทานพาราเซตามอลได้ ตราบใดที่ไม่ได้รับประทานมากจนเกิดขนาดกล่าวคืสำหรับคนไทยรับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัมก็เพียงพอและไม่ควรรับประทานเกินวันละ 8 เม็ด นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาสมุนไพรบางชนิดบางชนิด เช่น ใบขี้เหล็ก บอระเพ็ด เพราะพบว่าอาจทำให้เกิดตับอักเสบได้ ออกำลังกายสม่ำเสมอ การที่ท่านมีเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ไม่ได้มีการห้ามออกกำลังกาย ในทางตรงกันข้ามการออกกำลังกายสม่ำเสมอจะทำให้ร่างกายแข็งแรงสุขภาพโดยรวมดี การออกกำลังกายจะมีส่วนช่วยให้ภูมอต้านทานดีขึ้น จิตใจแจ่มใสและทำให้หัวใจแข็งแรง ในการออกกำลังกายควรค่อยๆ เพิ่ม ไม่หักโหมจนเกินไปและค่อยๆ เพิ่มปริมาณ ตัวอย่างของการออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น การเดินเร็ว ถีบจักรยาน ว่ายน้ำหรือการเต้นแอโรบิค พบแพทย์เป็นระยะๆ การที่ท่านมีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ดังนั้นหากรอจนมีอาการจึงไปพบแพทย์ก็คงสายเกินไป ท่านควรได้รับการตรวจประเมินการทำงานของตับเป็นระยะๆ ทุก 3-6 เดือนหรือบ่อยกว่านั้นตามระยะของโรคหรือตามความเห็นของแพทย์ นอกจากนั้นท่านควรได้รับการตรวจกรองหามะเร็งตับระยะเริ่มแรกด้วยการตรวจเลือดและการตรวจอัลตราซาวด์เป็นระยะๆ ทุก 6 เดือนหรือตามที่แพทย์แนะนำ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากหรือเริ่มมีตับแข็ง

โรคตับกับการตัดสินใจเลือกแพทย์ปัจจุบันหรือแพทย์ทางเลือกดี เนื่องจากเกิดความสับสนอย่างมากต่อวิธีที่จะรักษาโรคมะเร็ง และมีความคิดไม่เลือกรักษา คำถามเหล่านี้อาจเกิดจากความเข้าใจผิดส่วนตัว รบกวนช่วยให้ความกระจ่าง 1. ทำไมคนที่รักษาส่วนมากต้องเสียชีวิตด้วยระยะเวลาอันสั้นหลังจากที่ได้รับการผ่าตัดหรือคีโมแล้ว โดยส่วนใหญ่แพทย์ปัจจุบันผ่าตัด 2. ในขณะที่ได้ยินมาว่า ทางชีวิจิตหรือว่าทางเลือกอื่นนั้น มักแนะนำไม่เหมือนกัน คือ ไม่ต้องผ่าตัด โดยให้สมมุติกับเราที่ว่ามะเร็งมีอยู่ในร่างกายเราทุกคน แล้วสิ่งที่เราจะได้ยินทางเลือกนี้ก็คือ อยู่รอดมาได้นานกว่า 5 ปีบ้าง 7 ปีบ้าง และสิ่งที่เราได้ยินประจำคือ การผ่าตัดคือวิธีที่ทำให้มันกระจายเร็วที่สุดด้วยนะครับ

ที่คุณถามว่า ทำไมคนที่รักษาโรคมะเร็งส่วนมากต้องเสียชีวิตในระยะเวลาอันสั้นนั้น เพราะว่าโรคมะเร็งมักจะตรวจพบว่าเป็นระยะสุดท้าย อาการเป็นมากแล้ว โรคมะเร็งบางชนิดถ้าเราสามารถตรวจพบตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น จะสามารถรักษาให้หาย สำหรับหลักการรักษามะเร็งในแพทย์แผนปัจจุบันนั้น หลักการที่เป็นที่ยอมรับในปัจจุบันสำหรับการรักษามะเร็งในระยะเริ่มแรกผ่าตัด ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ สำหรับการรักษาทางเลือกอื่นๆ หรือชีวจิตนั้น ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับสนับสนุนแน่นอน ในรายที่เลือกที่จะรักษาโดยทางชีวจิตหรือทางเลือกอื่นๆ แล้วอยู่รอดได้นาน 7 ปีบ้าง 7 ปีบ้าง ตามที่คุณบอกนั้น ก็จะเป็นเรื่องของความบังเอิญเฉพาะรายนั้นๆ ที่บอกว่าอาจเป็นเรื่องบังเอิญ เนื่องจากผู้ป่วยไม่ได้มีชีวิตอยู่รอดได้นานทุกราย

อยากทราบว่ามีอาหารอะไรที่บำรุงตับให้ดีขึ้นบ้างไหมครับ ผมเป็นไวรัสตับอักเสบบี

ปฎิบัติตามหลักสุขบัญญัติ 10 ประการทั่วไป คือ รับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ ถูกสุขลักษณะ ไม่ปนเปื้อนเชื้อราจำพวกอัลฟาท็อกซิน ซึ่งพบได้ในถั่วลิสง ข้าวโพด ซึ่งตากไม่แห้งทำให้ขึ้นรา หลีกเลี่ยงการรับประทานยาสมุนไพรโดยไม่จำเป็น พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายได้ตามความเหมาะสมกับร่างกายแต่ละคน ไม่หักโหม

การได้รับวัคซีนตับอักเสบเอหรือบี จะสามารถตรวจว่ามีภูมิคุ้มกันโรคเกิดขึ้น หลังจากได้รับวัคซีนแล้วนานประมาณเท่าใด และหากฉีดแล้วไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเกิดขึ้น ต้องได้รับวัคซีนซ้ำหรือไม่จำเป็นต้องได้รับอีก

ควรตรวจ 1-2 เดือนหลังครบเข็มที่ 3 มากกว่าร้อยละ 90-95 มีภูมิหากไม่ขึ้นและมีความจำเป็นต้องมีภูมิ ลองฉีดแบบเดิม อีก3 เข็ม มากกว่าร้อยละ 50 อาจขึ้นได้

การทำปฏิบัติตัวกับคนในครอบครัวเราควรต้องระวังอย่างไรบ้าง นอกจากทางเลือด เช่น การทานอาหารโดยไม่ใช้ช้อนกลาง การกินน้ำแก้วเดียวกัน สรุปแล้ว นอกจากทางเลือดแล้วน้ำลายจะติดกันจากการรับประทานอาหารร่วมกันได้ไหม

การติดต่อของไวรัสตับอักเสบบี สำหรับในประเทศที่ถือว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีสูง ในประเทศไทยการติดต่อที่สำคัญของไวรัสตับอักเสบบี คือ

1. การติดต่อจากมารดาสู่ทารกโดยการติดเชื้อเกิดขณะคลอด ผู้ป่วยที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีโดยไม่มีอาการหรือทราบโดยการตรวจประจำปีหรือการบริจาคเลือดมักเป็นการติดเชื้อจากมารดาขณะคลอดทั้งสิ้น ทั้งนี้การติดเชื้อขณะคลอดเกิดจากการที่เลือดแม่ซึ่งมีไวรัส สัมผัสกับลูกพบว่าหากการติดเชื้อเกิดภายในขวบปีแรกโอกาสเป็นตับอักเสบเรื้อรังสูงกว่าร้อยละ 90 ต่างจากในผู้ใหญ่หากเป็นตับอักเสบบี โอกาสเป็นตับอักเสบเรื้อรังน้อยกว่าร้อยละ 5 ท่านลองคิดดูว่าในช่วง 30-40 ปีก่อนยังไม่รู้จักไวรัสตับอักเสบบี จะมีการติดต่อจากมารดาไปสู่ทารกมากเพียงใด เป็นที่น่าดีใจที่ในปัจจุบันการใช้วัคซีนห้องกันไวรัสตับอักเสบบี โดยทางราชการได้นำมาฉีดให้กับทารกทุกคนที่คลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ทำให้การติดต่อทางนี้ลดน้อยไปมากและไวรัสตับอักเสบบีคงค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ

2. การติดต่อต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นการติดต่อที่สำคัญในผู้ใหญ่ การติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของไวรัสตับอักเสบบีเกิดได้ง่ายกว่าไวรัส เอ ไอ วี (HIV; AIDS) มากกว่าร้อยเท่า ทั้งนี้เพราะปริมาณเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในเลือดมีปริมาณสูงมากกว่าไวรัส HIV มากมาย ยิ่งในกลุ่มชายรักชาย รักร่วมเพศหรือหญิงบริการซึ่งมักมีจำนวนคู่นอนมากยิ่งมีโอกาสติดต่อสูงหากไม่ได้มีการป้องกันที่ถูกต้อง ในกรณีคู่สามีภรรยาพบอัตราการติดไปยังคู่สมรสร้อยละ 20-30 ดังนั้นหากคุณมีคู่รักเป็นไวรัสตับอักเสบบี และคุณควรได้รับการตรวจเลือดหากมีภูมิต้านทานอยู่แล้วคงไม่ต้องทำอะไร แต่หากยังไม่มีภูมิต้านทานควรได้รับการฉีดวัคซีนเพราะแม้ตอนนี้ยังไม่ติด แต่อาจติดต่อเมื่อใดก็ได้ครับ

3. การติดต่อโดยทางเลือด สำหรับการได้รับเลือดใรปัจจุบันถือว่าปลอดภัยทั้งนี้เพราะเลือดทุกถุงต้องได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและการตรวจในปัจจุบันก็มีความไวมาก ดังนั้นท่านไม่ต้องกังวลกับการติดต่อวิธีนี้

4. การสัก เจาะและการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การฝังเข็ม หากทำไม่ถูกวิธีหรือไม่บุคลากรที่รู้จักวิธีปลอดเชื้อ เช่น เอาแค่จุ่มๆ แอลกฮอล์ไม่เพียงพอในการทำลายเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

5. การติดเชื้อในผู้ป่วยฟอกไตพบว่ามีโอกาสติดเชื้อได้สูงในบางแห่งโดยเฉพาะในอดีต แต่ในปัจจุบันลดลงไปมากๆ เพราะมีการใช้ วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีในผู้ป่วยที่จะฟอกไตและมีการฉีดกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง

6. การติดเชื้อในบ้านหรือการคลุกคลีกับผู้ป่วยตับอักเสบบี เนื่องจากตรวจพบไวรัสตับอักเสบบีในน้ำลายได้ จึงมีผู้กลัวว่าการรับประทานอาหารร่วมกันอาจได้รับเชื้อและอาจติดเข้าร่างกาย เช่น ทางไรฟันหรือบริเวณเหงือกที่อักเสบ ได้มีการศึกษาในลิงที่ยืนได้เหมือนคนพบว่าไม่มีการติดต่อแบบนี้เกิดขึ้นในลิงทั้ง 13 ตัวที่ได้รับน้ำลายที่มีเชื้อไวรัสบี ดังนั้นสรุปได้ว่าแม้มีเชื้อในน้ำลายก็ไม่เพียงพอที่จะติดต่อจึงไม่ต้องกังวลว่าการรับประทานอาหารร่วมกับผู้ป่วยจะติดต่อกันอย่างไรก็ตามพบว่าบุคคลที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นไวรัสตับอักเสบบีจะมีโอกาสติดไวรัสตับอักเสบบีมากกว่า ทั้งนี้อาจติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือการใช้ของมีคมร่วมกันเช่น มีดโกน ที่โกนหนวด กรรไกรตัดเล็บหรือมีการเปื้อนเลือด สารคัดหลั่งตามโต๊ะหรือที่ต่างๆ แล้วเข้าทางบาดแผล เป็นต้น

7. การติดเชื้อโดยอาชีพเสี่ยง อาชีพที่เสี่ยงคือบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งมีโอกาสได้รับเชื้อมาก ไม่ว่าจากเข็มตำ ทางบาดแผล หมอผ่าตัด หมอฟันหรือเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการยิ่งมีโอกาสสูงมากขึ้น ไม่ต้องกังวลอะไร หากลูกได้รับการฉีดวัคซีนและภูมิภายใน 12 ชั่วโมงหลังคลอดป้องกันการติดไปยังลูกได้ คุณน่าจะเป็นมาตั้งแต่เกิดโดยติดจากแม่ขณะคลอดครับ สมัยก่อนยังไม่มีวัคซีน ไม่ต้องตกใจเอาไว้คลอดแล้วมาตรวจด้วยว่าคุณมีการอักเสบหรือไม่นอกจากมีเชื้อ

โรคพิษสุราเรื้อรังและวิธีการ พฤติกรรมของผู้ที่ดื่มเป็นประจำขั้นไหนที่เรียกว่าติดสุราและผลของพฤติกรรมทางจิตเป็นเช่นไร วิธีการดูแลและรักษาผู้ที่เป็นทำเช่นไร

อาหารหรือพฤติกรรมของผู้ดื่มขั้นที่เรียกว่าติดสุรา คือมีอาการเกิดขึ้นเมื่อหยุดดื่มสุรา อาการที่เกิดขึ้นเมื่อหยุดสุรานั้นมีผลกระทบกับชีวิตประจำวัน เช่น หยุดเหล้าแล้วมีอาการมือสั่น สับสน เพ้อ ทำงานไม่ได้ตามปกติ คิดเลขไม่ได้ นอนไม่หลับ มองภาพหลอน ถ้าเป็นขั้นรุนแรงจะมีอาการซึมและชักได้ วิธีรักษานั้นถ้าตั้งใจหยุดจริงๆ เมื่อลองหยุดด้วยตนเองแล้วหยุดไม่ได้ ให้ปรึกษาจิตแพทย์ ซึ่งปัจจุบันมีบางโรงพยาบาลมีกลุ่มหยุดเหล้าโดยเฉพาะเพื่อดูแลอาการที่เกิดจากการหยุดเหล้า อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลที่มีจิตแพทย์ก็สามารถคำปรึกษาได้

ถ้าเป็นไวรัสตับอักเสบบี เมื่อตั้งครรภ์มีสิทธิ์ติดถึงลูกได้ไหม แต่ไม่มีอาการใดเลย รู้ตัวเมื่อตั้งครรภ์ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อไวรัสในร่างกายมากน้อยแค่ไหน ถ้ามารดามีปริมาณเชื้อมากมีโอกาสติดได้ 70-90% ถ้ามารดามีปริมาณเชื้อน้อยมีโอกาสติดได้ 10-40% ถ้ามารดาเป็นชนิดเชื้อมาก บุตรควรได้รับภูมิคุ้มกันแรกคลอดร่วมกับวัคซีนจะป้องกันการติดต่อได้มากกว่า 90% มารดาควรปฏิบัติตัวตามปกติ (ไม่บริจาคเลือด, ไม่ใช้แปรงสีฟันและใบมีดร่วมกับคนอื่น, รับประทานอาการตามปกติ, งดดื่มสุรา) ติดตามการตรวจต่อเนื่องกับสูตินรีแพทย์และนำสามีมาตรวจหาเชื้อด้วย

เป็นไวรัสตับอักเสบีสามารถมีลูกได้ไหมและหายขาดได้ไหม เพิ่งเป็นและตอนนี้ตรวจเลือดอีก 6 เดือนเป็นเฉียบพลัน เอ็นไซม์ตับสูงมากแต่ตอนนี้เริ่มลดลง จะต้องดูแลตัวเองอย่างไรให้มีภูมิคุ้มกัน

หากเป็นเฉียบพลัน 90-95% หายขาด หากเป็นเรื้อรังแล้วมีการกำเริบ บางครั้งแยกไม่ได้จากฉับพลันต้องรออีก 6 เดือน หากหายแสดงว่าเป็นเฉียบพลัน ไม่วาคุณจะเป็นแบบไหนก็มีบุตรได้ เพราะเราฉีดวัคซีน และหรือภูมิให้เด็ก ไม่ต้องกลัวติด

การเปลี่ยนตับ ดิฉันอยากทราบว่าเมื่อมีการเปลี่ยนตับแล้ว หลังเปลี่ยนจะมีอาการอย่างใด และมีอาการแทรกซ้อนย่างใดหรือไม่ ขั้นตอนของการเปลี่ยนตับจะต้งไปแจ้งความประสงค์อย่างไร

หลังเปลี่ยนตับ ผู้ป่วยจะปกติทุกประการ แต่ต้องรับประทานยากดภูมิต้านทานตลอดชีวิต สามารถติดต่อได้ที่ รพ.ศิริราช จุฬา รามา ราชวิถี โดยทั่วไปต้องรอการเปลี่ยนนานพอสมควร สำหรับว่าเมื่อใดจำเป็นต้องเปลี่ยนตับ ลองปรึกษาแพทย์

หากไม่พบคำตอบที่ต้องการ กรุณาติดต่อเรา

กรุณากรอกแบบฟอร์มเพื่อส่งคำถาม